การตระหนักรู้ตนเองและผู้อื่น-ด้านความรู้สึกและความต้องการ

การตระหนักรู้ตนเองและผู้อื่น-ด้านความรู้สึกและความต้องการ

 

     ในการตระหนักรู้ตนเอง จุดเริ่มต้นที่สำคัญคือการเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของเรา เพื่อให้เราสามารถบริหารจัดการตัวเองได้ค่ะ วันนี้ อ.ก้อย จะมาแบ่งปันเรื่องความรู้สึกและความต้องการ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจตนเองและผู้อื่นในด้านนี้มากขึ้นค่ะ

 

มารู้จักความรู้สึกและความต้องการกันค่ะ

     ขออนุญาตถามท่านผู้อ่านนะคะ ตอนนี้ท่านรู้สึกอย่างไรคะ ความรู้สึกจะเป็นคำสั้นๆ เช่น เหนื่อย เบื่อ สนุก มีความสุข สงบ ผ่อนคลาย ดีใจ เศร้าใจ โกรธ โมโห หงุดหงิด ไม่ชอบ ชอบ รำคาญ เป็นต้น ความรู้สึกจะเป็นผลที่ตามมาจากการที่เรามีความต้องการบางอย่างค่ะ 

ตัวอย่างคำความรู้สึก (จากการสื่อสารอย่างสันติ; Non-Violence Communication) 

ตัวอย่างคำความต้องการ (จากการสื่อสารอย่างสันติ; Non-Violence Communication) 

 

ตัวอย่างที่ 1 หัวหน้าบอกให้ลูกน้องแก้งานให้ถูกต้อง อธิบายว่าต้องแก้ตรงไหนบ้าง ครั้งถัดไปลูกน้องก็ยังคงทำงานผิดที่จุดเดิม คิดว่าหัวหน้าต้องการอะไรคะ หัวหน้าอาจจะต้องการความมีประสิทธิภาพ ความเข้าใจ ความเห็นใจ การพึ่งตนเอง เป็นต้น ซึ่งแต่ละคนอาจจะมีความต้องการไม่เหมือนกันก็ได้ค่ะ และเมื่อหัวหน้าไม่ได้รับความต้องการเหล่านั้น เช่น ไม่ได้รับความมีประสิทธิภาพ หัวหน้าจะรู้สึกอย่างไรคะ อาจจะโกรธ หงุดหงิด เบื่อ เซ็ง (อาจมีมากกว่านี้ และเราแต่ละคนอาจจะรู้สึกไม่เหมือนกันค่ะ) 

ตัวอย่างที่ 2 พลอยได้รับรางวัลผลงานดีเด่นประจำปี รู้สึกดีใจ ภูมิใจ ขอบคุณ มีความสุข เนื่องจากความต้องการลึกๆ ในใจเธอได้รับการตอบสนอง ความต้องการ เช่น ได้รับการยอมรับ การชื่นชม และการแสดงความยินดี เป็นต้น

 

การเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตนเองเริ่มต้นได้อย่างไร และสำคัญอย่างไร

     การเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตนเอง เริ่มต้นได้จากการหมั่นกลับมาถามตนเองว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร เพราะเราต้องการอะไร

     หากเรารู้เท่าทันและเข้าใจว่าตนเองรู้สึกอย่างไร จะช่วยให้เราสามารถแสดงออกอย่างเหมาะสม เช่น รู้ว่าโกรธอยู่ ก็อย่าเพิ่งพูดหรือโต้ตอบกลับไป รู้ว่ายินดีกับความสำเร็จของผู้อื่น ก็สามารถสื่อสารหรือแสดงออกถึงความยินดีนั้นได้ เป็นต้น

     ในแง่ความต้องการ เราสามารถสื่อสารให้ชัดเจนขึ้นได้ว่าเราต้องการอะไร เช่น ต้องการความชัดเจนว่างานนี้จะได้รับวันไหน ต้องการความช่วยเหลือ เป็นต้น

 

การเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่นเริ่มต้นได้อย่างไร และสำคัญอย่างไร

     การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น สามารถทำได้โดยการฟัง ฟังมากกว่าแค่คำพูด แต่ฟังไปถึงน้ำเสียง และสังเกตภาษากายของผู้อื่น และฟังในสิ่งที่ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ คือ ความต้องการที่ซ่อนอยู่ การเข้าใจความรู้สึกและความต้องการผู้อื่นจะเกิดขึ้น เมื่อเราใส่ใจคนตรงหน้าอย่างแท้จริง 

     การเข้าใจผู้อื่นจะช่วยให้เราแสดงออกได้อย่างเหมาะสม เช่น เมื่อเพื่อนร่วมงานมีความเครียด/กังวล เราอาจพูดคุยกับเขาเพิ่มเติมว่าเป็นอย่างไรบ้าง อยากให้ช่วยอะไรบ้าง แทนที่จะไปตามงานในขณะที่เขายังไม่พร้อมหรือเครียดอยู่ เป็นต้น

     หากเรามีความใส่ใจผู้คนเพิ่มเติม จะช่วยให้เราทำงานแล้วได้ใจคน และเขาก็จะช่วยเหลือสนับสนุนเรา ทำให้ได้งานตามมาค่ะ

 

     อ่านมาถึงตรงนี้แล้วชวนให้ลองฝึกเรื่องการเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตนเอง และผู้อื่นเพิ่มขึ้นนะคะ

     หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อยค่ะ

     ขอให้สนุก และมีความสุขกับการเข้าใจตนเองและผู้อื่นนะคะ

     อ.ก้อย

 
 

หลักสูตรในองค์กร (in-house training) ที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ 


อาจารย์ เภสัชกรหญิง ธันยพร จารุไพศาล (อ.ก้อย)

โค้ชและวิทยากรด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

(Performance Coach and Trainer)


E-mail: tunyaponj@gmail.com

line ID: koytunyapon

Tel: 082-415-1462

Visitors: 77,935