การตระหนักรู้ตนเอง (Self-awareness) คืออะไรและพัฒนาอย่างไร
การตระหนักรู้ตนเอง (Self-awareness) สำคัญอย่างไร
ในแต่ละวัน เรามักเจอเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งเหตุการณ์ที่ดีหรือเป็นไปตามที่เราคิด และเหตุการณ์ที่ไม่ดีหรือไม่เป็นไปตามที่เราคิด แล้วเราก็แสดงพฤติกรรมหรือคำพูดบางอย่างออกไป ถ้าเหตุการณ์ดี เราก็แสดงออกได้อย่างเต็มที่ค่ะ แต่ถ้าเหตุการณ์นั้นไม่เป็นไปตามที่เราคิด เราอาจจะเผลอแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกไป เช่น หากคนอื่นพูดเสียงดังหรือพูดคำหยาบคายกับเรา ถ้าเราแสดงออกอย่างเต็มที่ ก็ส่งผลเสียต่อเราไม่มากก็น้อยใช่ไหมคะ ในการทำงานก็เช่นกันค่ะ หากเราไม่รู้ตัวหรือไม่ตระหนักรู้ถึงตัวเราเอง เราก็อาจแสดงพฤติกรรม หรือคำพูดที่ไม่เหมาะสมกับผู้อื่นได้ เช่น พูดกับลูกน้องด้วยคำพูดและน้ำเสียงที่ตำหนิ ไม่พอใจ หรือหากมีคนตำหนิ ก็ชักสีหน้าใส่ เป็นต้น ทำให้คนอื่นกังวล หรือกลัว และไม่อยากทำงานร่วมกันได้ ดังนั้นการตระหนักรู้ตนเอง (Self-awareness) เป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาตนเอง หรือทำตัวเราให้เป็นเวอร์ชันที่ดีขึ้นค่ะ
ความหมายที่แท้จริงของการตระหนักรู้ตนเอง (Self-awareness) คืออะไร
การตระหนักรู้ตนเอง (Self-awareness) หมายถึง ความสามารถที่จะรับรู้และเข้าใจความรู้สึก อารมณ์ และความต้องการของตนเอง ตลอดจนผลที่เกิดขึ้นกับบุคคลอื่น อันเนื่องมาจากความรู้สึก อารมณ์ และความต้องการเหล่านั้นของตน และเข้าใจตนเองในด้านจุดแข็ง จุดที่ควรพัฒนา คุณค่า
การตระหนักรู้ตนเอง (Self-awareness) สำคัญอย่างไร
หากเรารับรู้และเข้าใจความรู้สึก อารมณ์ และความต้องการของตนเองอย่างเท่าทัน หรือหากเราสังเกตเห็นผล (จากที่เราแสดงออก) ว่าส่งผลต่อบุคคลอื่นอย่างไร ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) โดยเมื่อตระหนักรู้แล้ว ก็จะนำไปสู่การบริหารตนเอง (Self-management) เพื่อให้เราเป็นเราคนใหม่ที่ควบคุมอารมณ์ได้ อารมณ์ดีมากขึ้น หรืออารมณ์คงที่มากขึ้น ในอีกมิติหนึ่งของการเข้าใจตนเอง หากเรารู้จุดแข็ง และจุดอ่อนที่ควรพัฒนา ก็จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น และรู้ว่าจะบริหารตนเอง (หรือพัฒนาตนเอง) อย่างไร เช่น ฝึกในจุดอ่อน หากจุดอ่อนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญต่อเป้าหมายของเรา หรือแค่ยอมรับ และให้คนอื่นทำในเรื่องที่เป็นจุดอ่อนหรือเราไม่ถนัดแทน เป็นต้น
แล้วเราจะพัฒนาการตระหนักรู้ตนเองได้อย่างไร
1. การฝึกสติ เช่น นั่งสมาธิ เดินจงกรม เคลื่อนมือ 14 จังหวะ (หลวงพ่อเทียน) ช่วยให้เรารับรู้ถึงอารมณ์ และความรู้สึกของเราได้เร็วขึ้น เช่น สมัยก่อนเราอาจจะด่าคนอื่นไปแล้ว ด่าเสร็จค่อยมารู้สึกแย่ว่าไม่น่าด่าเลย พอฝึกสติบ่อยขึ้น ก็จะพัฒนาเป็นอยากด่า แต่ยังพยายามปิดปากให้สนิท ไม่เผลอด่าออกไป จนท้ายที่สุดจะแค่รู้ว่าไม่พอใจ แล้วก็ปล่อยวางได้ แต่หาวิธีการให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ เช่น พูดจูงใจให้เขาทำในสิ่งที่ต้องการแทน
2. การทบทวนตัวเอง ในทุกๆ วัน ว่าวันนี้ทำอะไรได้ดี อะไรที่ควรปรับเปลี่ยน (ทำเพิ่มขึ้น ทำลดลง หรือหยุดทำ)
3. การถามตนเอง ว่าเรารู้สึกอะไร และเบื้องหลังความรู้สึกนี้ เกิดขึ้นเพราะมีความต้องการอะไร เช่น รู้สึกโกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจ เพราะต้องการให้รับฟังเรามากขึ้น เป็นต้น
4. ฝึกฟังและสังเกต ฟังเสียงตนเองระหว่างที่เราพูด จะช่วยให้เรารับรู้ความรู้สึก และอารมณ์ของเราได้ดียิ่งขึ้น หรือสังเกตคำพูด น้ำเสียง และท่าทางที่คนอื่นแสดงออกขณะที่คุยกับเรา ก็จะช่วยให้เห็นว่าคนอื่นมีปฏิกิริยาอย่างไร ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการแสดงออกของเราเช่นกันค่ะ เช่น สังเกตว่าคนอื่นพูดเสียงดังและน้ำเสียงไม่พอใจ แล้วสะท้อนกลับมาสำรวจตนเอง พบว่า..เป็นเพราะเราโกรธ เราจึงพูดเสียงดังก่อน เป็นต้น
5. การเขียนบันทึก เขียนเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้น การเขียนจะช่วยให้เรารับรู้ความรู้สึกได้ดีขึ้น ช้าลงและทันกับการเห็นความคิด หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้น ช่วยให้เราได้ระบายออกและยังสามารถกลับมาอ่านย้อนหลังและดูพัฒนาการของตนเองได้ด้วยค่ะ
6. การถาม feedback จากผู้อื่น ถามคนที่เราสนิทอย่างเปิดอกและเปิดใจอยากรู้ อยากฟัง อันนี้อาศัยความใจกล้าของทั้งคนถามและคนตอบเลยค่ะ เริ่มง่ายๆ ถามจากข้อดี/จุดแข็งก่อน แล้วค่อยถามถึงเรื่องที่ควรปรับเปลี่ยน ก็จะช่วยให้สบายใจทั้งคนถามและคนตอบเลยค่ะ
หัวใจสำคัญของการตระหนักรู้ตนเอง คือ การรับรู้ตามความเป็นจริง ตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์กับความรู้สึก และความต้องการของตนเอง ยอมรับในจุดแข็งและจุดอ่อนของเราค่ะ
อ่านแล้วลองประเมินตัวเองดูนะคะ ว่าเราตระหนักรู้ตนเองได้ดีในเรื่องใด เช่น ความรู้สึก ความต้องการ จุดแข็ง จุดอ่อน และเรื่องใดอยากพัฒนาให้ดีขึ้น และจะฝึกอย่างไร ลองเลือกจากใน 6 ข้อแล้วมาฝึกดูนะคะ
อ.ก้อย เป็นกำลังใจให้กับการเรียนรู้และเติบโต เป็น better version สำหรับตนเอง ครอบครัว และเพื่อนๆ ในที่ทำงานและในชีวิตค่ะ :)
อาจารย์ เภสัชกรหญิง ธันยพร จารุไพศาล (อ.ก้อย)
โค้ชและวิทยากรด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
(Performance Coach and Trainer)
E-mail: tunyaponj@gmail.com
line ID: koytunyapon
Tel: 082-415-1462
-
ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence; EQ) เรามักได้ยินคนพูดถึงความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) อยู่บ่อยๆ ความฉลาดทางอารมณ์ก็เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ผู้นำควรมี และส่งผลต...
-
การบริหารจัดการตนเอง (Self-management)คืออะไร และเทคนิคในการพัฒนา ในด้านความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) เริ่มต้นด้วยการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) ก่อน เมื่อรู้เท...
-
การตระหนักรู้ในตนเอง และผู้อื่น ด้วยการเข้าใจบุคลิกที่แตกต่างผ่านจุดแข็ง หลายๆ ครั้งเรามักเผลอหงุดหงิด หรือไม่ชอบคนที่มีบุคลิกที่แตกต่างกับเรามาก ซึ่งส่วนมากเกิดจากเราคิดว่าเราเ...
-
การตระหนักรู้ตนเองและผู้อื่น-ด้านความรู้สึกและความต้องการ ในการตระหนักรู้ตนเอง จุดเริ่มต้นที่สำคัญคือการเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของเรา เพื่อให้เราสามารถบริหารจัดการตัวเองไ...
-
เทคนิคการควบคุมอารมณ์ การควบคุมอารมณ์ก็เป็นหนึ่งในมิติที่สำคัญของการบริหารตนเอง ซึ่งส่งผลทั้งต่อผู้อื่นและตนเองค่ะ หากเราควบคุมอารมณ์ของเราได้ดีจะช่วยให้มีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ท...