การบริหารจัดการตนเอง (Self-management) คืออะไร และเทคนิคในการพัฒนา

การบริหารจัดการตนเอง (Self-management) คืออะไร และเทคนิคในการพัฒนา


ในด้านความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) เริ่มต้นด้วยการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) ก่อน เมื่อรู้เท่าทันตนเองแล้ว จึงสามารถบริหารจัดการตนเอง (Self-management) ได้ 

 

การบริหารจัดการตนเอง (Self-management) คืออะไร และสำคัญอย่างไร

ในสภาวะที่ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี เราก็มีอารมณ์ที่ดี เช่น มีความสุข สนุก ส่งผลให้แสดงพฤติกรรมที่ดีออกมา เช่น ทำงานอย่างกระตือรือร้น พูดจากับผู้อื่นอย่างสุภาพ ให้กำลังใจผู้อื่น อันนี้ยังไม่ใช่การบริหารจัดการตนเองนะคะ การบริหารจัดการตนเอง คือ เมื่อเราเจอเหตุการณ์หรืออยู่ในสภาวะที่ทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่เราต้องการ เรายังบริหารจัดการตนเองได้ จัดการความเครียด ความโกรธ ความตื่นเต้น และมีพลังบวกแม้ในสถานการณ์ที่เลวร้าย การบริหารจัดการตนเองช่วยให้กลับมาเริ่มต้นใหม่ได้ แม้จะเจอเรื่องราวแรงๆ มากระทบค่ะ 

 

องค์ประกอบของการบริหารจัดการตนเอง

จาก Harvard Business Review ในปี 2012 ได้แบ่ง Emotional Intelligence เป็น 12 องค์ประกอบ โดยในด้านการบริหารจัดการตนเอง (Self-management) นี้ มีองค์ประกอบ 4 ด้าน ดังนี้

1. Emotional control (การควบคุมอารมณ์) ณ ช่วงที่อารมณ์ไม่ดี สามารถควบคุมตนเอง หรือหยุดตัวเอง ไม่ให้แสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ 

2. Adaptability (การปรับตัว) เมื่อเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด สามารถปรับตัวอย่างรวดเร็ว ไม่ยึดติดกับวิธีการเดิมๆ หรือผลลัพธ์เดิมๆ 

3. Achievement orientation (การจดจ่อกับเป้าหมาย) ไม่ว่าจะเผชิญเหตุการณ์อะไร ก็ยังจดจ่อกับเป้าหมาย ไม่ไหลไปกับสถานการณ์ โทษเหตุการณ์ต่างๆ แต่รับผิดชอบในการปรับแผนและลงมือทำ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ

4. Positive outlook (การมองในมุมบวก) สามารถเห็นมุมบวกหรือสิ่งที่ได้เรียนรู้ แม้จะเจอเหตุการณ์ร้ายๆ ได้

 

 

เทคนิคในการบริหารจัดการตนเอง

1. การฝึกสติ เช่น นั่งสมาธิ เดินจงกรม เพื่อให้รู้เท่าทันตนเอง (มีการตระหนักรู้) รู้อารมณ์ตนเอง ณ ขณะต่างๆ และสามารถควบคุมตนเอง หรือหยุดตัวเอง ณ ช่วงที่อารมณ์ไม่ดี เช่น โกรธ เกลียด เป็นต้น ไม่ให้แสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่ดี หรือระงับการพูด เช่น ไม่ด่าว่าผู้อื่น ไม่แสดงท่าทางที่ไม่เหมาะสม 

2. ถามตนเองว่าเป้าหมายของเราคืออะไร และเป้าหมายนี้สำคัญอย่างไร หากเป้าหมายของเราชัดเจน จับต้องได้ สามารถวัดได้ และเป้าหมายนี้มีคุณค่าต่อชีวิตเรา จะทำให้เราไม่ย่อท้อ แม้จะเจออุปสรรคค่ะ เช่น เป้าหมายเรา คือ ทำงานให้บรรลุ KPI ที่ตั้งไว้ ความสำคัญ คือ เพื่อมีรายได้ดูแลครอบครัว ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ ให้ท่านภาคภูมิใจ เป็นต้น

3. การปรับเปลี่ยนความคิด ใช้คำว่า “ยังดีนะที่.....” เช่น เจ้านายให้ feedback --> ปรับความคิดเป็น ยังดีนะ ที่เจ้านายบอกให้รู้ว่าควรปรับเปลี่ยนตรงไหน 

4. การขยับร่างกาย ร่างกายกับจิตใจ (ความรู้สึก) มีความสัมพันธ์กันค่ะ เช่น ตอนที่เรารู้สึกเศร้าหรือผิดหวัง ท่าทางมักเป็นท่านั่งก้มหน้า คอตก การเปลี่ยนความรู้สึก สามารถเริ่มต้นได้ที่การปรับท่าทางของตนเอง เช่น ลุกขึ้นเดิน เงยหน้าขึ้น หรือไปออกกำลังกายก็จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นค่ะ

 

ชวนพวกเราทบทวนตัวเองดูนะคะ ว่าใน 4 องค์ประกอบของการบริหารจัดการตนเอง ข้อไหนที่เราทำได้ดี และข้อไหนที่อยากปรับเปลี่ยน และจะลองนำเทคนิคในการบริหารจัดการตนเองข้อไหนมาปรับใช้นะคะ หรือมีเทคนิคอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมา ก็สามารถเขียนอีเมลล์ หรือส่งไลน์มาแบ่งปันกันได้นะคะ :)

ส่งกำลังใจให้ท่านผู้อ่าน ในการปรับใช้เรื่องการบริหารจัดการตนเอง เพื่อให้สามารถจัดการกับเหตุการณ์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นนะคะ

 

อาจารย์ เภสัชกรหญิง ธันยพร จารุไพศาล (อ.ก้อย)

โค้ชและวิทยากรด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

(Performance Coach and Trainer)


E-mail: tunyaponj@gmail.com

line ID: koytunyapon

Tel: 082-415-1462 

Visitors: 79,955