ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) โดย ภญ.ธันยพร จารุไพศาล

 ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence; EQ)

เรามักได้ยินคนพูดถึงความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) อยู่บ่อยๆ ความฉลาดทางอารมณ์ก็เป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ผู้นำควรมี และส่งผลต่อการทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จค่ะ 

Daniel Goleman ผู้เขียนหนังสือความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ได้กล่าวว่าในปี ค.ศ.2020 ความฉลาดทางอารมณ์จะเป็น 1 ใน 10 ทักษะที่ใช้ในการสมัครงานค่ะ

อ.ก้อย เห็นว่าเรื่องนี้น่าสนใจและสำคัญ จึงนำความรู้และประสบการณ์มาแบ่งปันค่ะ เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถฝึกฝนตนเองในการเป็นผู้นำที่ดีหรือเป็นพนักงานที่พร้อมสำหรับการเติบโตในหน้าที่การงานค่ะ

 

ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) คือ ความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของตนเองและผู้อื่น และสามารถบริหารจัดการอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม เพื่อใช้ชีวิตมีความสุข และประสบความสำเร็จ แบ่งออกเป็น 5 ด้าน

   1. การตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness)

การตระหนักรู้ในตนเอง หมายถึง ความสามารถในการเข้าใจ และรับรู้อารมณ์ของตนเอง ข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญมาก และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา EQ ค่ะ เราต้องรู้จักตัวเราเองก่อนว่าเราเป็นคนอารมณ์แบบไหน ส่งผลกระทบอย่างไรต่อการแสดงออกหรือพฤติกรรมของเรา และส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไรค่ะ ด้านไหนเป็นข้อดีของเรา และด้านไหนเป็นข้อที่ควรพัฒนาของเราค่ะ

นอกจากนี้ การเข้าใจตัวเองในด้านอื่นๆ ก็สำคัญ เช่น เข้าใจบุคลิกภาพของตนเอง ว่าเด่นด้านไหน เข้าใจความต้องการของตนเอง สิ่งที่เราให้คุณค่า เป็นต้น

 

วิธีฝึกฝน: - การฝึกสติอย่างสม่ำเสมอช่วยให้เรามีความไวต่อการรับรู้อารมณ์ของตนค่ะ

           - สังเกตว่าเรามีบุคลิกแบบไหน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ หัวข้อ การตระหนักรู้ตนเองและผู้อื่น ผ่านบุคลิกภาพ-จุดแข็ง)

           - หมั่นทบทวนเป้าหมาย รวมถึงสิ่งที่เราให้ความสำคัญในชีวิต สิ่งที่เราให้คุณค่า เช่น การเติบโต อิสระ ครอบครัว สุขภาพ เป็นต้น

 

   2. ารควบคุมตัวเอง (Self-Management)

หลังจากที่เรารับรู้อารมณ์ของตนเองและผลกระทบที่มีต่อผู้อื่นแล้ว สามารถควบคุมและจัดการกับอารมณ์ของตนได้ แล้วแสดงออกอย่างเหมาะสม เช่น เมื่อฟังลูกน้องพูดแล้วรู้สึกหงุดหงิด ก็ตระหนักรู้ว่าตนเองกำลังหงุดหงิด แล้วควบคุมตนเองไม่ระเบิดใส่ลูกน้อง เป็นต้น

คนที่สามารถควบคุมตนเองได้ดีจะมีความยืดหยุ่นและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีค่ะ 

 

วิธีฝึกฝน: หมั่นทบทวนถึงการแสดงออกที่ดี และสิ่งที่ยังทำได้ไม่ดี ในแต่ละวัน และให้กำลังใจตนเองในการพัฒนาการควบคุมตนเองและแสดงออกให้ดียิ่งขึ้น

 

   3. ทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น (Social Skills)

การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นก็เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้บรรยากาศในการทำงานดีและผู้อื่นอยากที่จะทำงานด้วยค่ะ ทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เช่น การเป็นผู้ฟังที่ดี การสื่อสารด้วยวัจนะภาษา (คำพูด) การสื่อสารด้วยอวัจนะภาษา (ภาษากายและน้ำเสียง) การให้เกียรติผู้อื่น เป็นต้น

 

วิธีฝึกฝน: เป็นผู้ฟังที่ดี ไม่พูดแทรก ให้เกียรติผู้อื่น ชื่นชมในสิ่งที่ดี ให้กำลังใจผู้อื่น

 

   4. การเข้าใจผู้อื่น (Empathy)

 

การเข้าใจผู้อื่น หมายถึง ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ทั้งด้านบุคลิก ความรู้สึก และความต้องการ และแสดงความใส่ใจเป็นพิเศษหากเขารู้สึกไม่ดี กังวล เศร้า เป็นต้น หากเราใส่ใจผู้อื่น โดยรับฟังมากกว่าแค่คำพูด สังเกตน้ำเสียง และภาษากาย จะช่วยให้เราเข้าใจผู้อื่นได้ดีขึ้น สิ่งสำคัญ คือ ใส่ใจเขาจริงๆ ไม่ได้ทำอย่างอื่นไปด้วยค่ะ

 

วิธีฝึกฝน: - สังเกตสีหน้า แววตา ท่าทางของผู้อื่น ฝึกอ่านอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการ 

           - สังเกตผู้อื่นว่ามีลักษณะเด่นด้านบุคลิกภาพแบบใด 

 

   5. การจูงใจ (Motivation)

เป็นคนที่มีแรงจูงใจจากภายใน (Intrinsic motivation) เต็มไปด้วยพลังที่ขับเคลื่อนจากภายใน มากกว่าแรงจูงใจจากภายนอก (External motivation) เช่น เงิน ชื่อเสียง การได้รับการยอมรับ เป็นต้น มีการตั้งเป้าหมายและลงมือทำจนบรรลุเป้าหมาย ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค/ความยากลำบาก

 

วิธีฝึกฝน: หมั่นตั้งเป้าหมายในแต่ละวัน จดจ่อ และลงมือทำจนบรรลุเป้าหมาย หมั่นให้กำลังใจตัวเอง โดยการทบทวนความสำเร็จ/ความภาคภูมิใจต่างๆ ในชีวิต แล้วให้กำลังใจว่า ฉันทำได้ๆๆ

 

หลังจากเข้าใจด้านต่างๆ ของความฉลาดทางอารมณ์แล้ว ชวนมาฝึกฝนกันนะคะ 

 

อ.ก้อย หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ เพื่อช่วยให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้นค่ะ 

อาจารย์ เภสัชกรหญิง ธันยพร จารุไพศาล (อ.ก้อย)

โค้ชและวิทยากรด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

(Performance Coach and Trainer)


E-mail: tunyaponj@gmail.com

line ID: koytunyapon

Tel: 082-415-1462 

Visitors: 79,572